นายพชรพรรธนประเทศ(ทนายช้างขอนแก่น)
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  |  
 ตะกร้าสินค้า (0)

คลิกใช้งาน

คลิกเพื่อยกเลิกใช้งาน   สังเกตุหรือเปล่าว่า ความผิดต่อกฎหมายอาญานั้นส่วนใหญ่จะมาจากการกระทำโดยผิดศีล 5 ได้แก่ ข้อที่ 1.ห้ามฆ่าสัตว์ ข้อที่ 2.ห้ามลักทรัพย์ ข้อที่ 3 ห้ามประพฤติผิดในกาม ข้อที่ 4.ห้ามพูดปดโกหก ข้อที่ 5.ห้ามดื่มสุราของมึนเมา ล้วนเป็นการกระทำมิชอบด้วยกฎหมายด้วยในตัว

คุณทราบไหมว่าเมื่อเขาพูดเช่นนี้ ผู้พิพากษาจะตอบว่าอย่างไร

ผู้พิพากษาตอบว่า "การรักษากฎหมายเป็นหน้าที่ของคุณอยู่แล้วมันลบล้างคดีที่คุณทำมาไม่ได้หรอก  มันช่วยได้เพียงทำให้ข้อหาของคุณอยู่ตัวไม่เพิ่มขึ้นเท่านั้น...

คุณเห็นหรือยังว่าการทำดี(ประโยชน์ต่อบ้านเมือง)ของคุณนั้นไม่สามารถลบล้างความบาป(ความผิดต่อกฎหมายหรือมิชอบด้วยกฎหมาย) เพราะการทำดีนั้นเป็นหน้าที่ของมนุษย์เราที่พระเจ้า(สิ่งศักดิ์สิทธิ์)ปรารถนาให้เราทำอยู่แล้ว....  การทำดีของคุณนั้นมันช่วยได้เพียงอย่างเดียวคือทำให้ข้อหาบาป(ความผิดกฎหมายอาญา)ของคุณอยู่ตัว ไม่เพิ่มขึ้นแค่นั้นเอง

จำเลยพูดว่า "โอ้โห  ถ้าเช่นนั้นผมจะทำอย่างไรจึงจะพ้นจากคำพิพากษาของท่านผู้พิพากษาหรือพ้นจากการพิพากษาของพระพุทธเจ้าได้ล่ะครับ

แต่อย่าพึ่งตกใจกลัวนะครับ  วันนี้ผมมีข่าวดีจะมาบอกให้คุณทราบว่รา  ท่านผู้พิพากษามีความปราณี ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนมาก ท่านผู้พิพากษาดำรงความยุติธรรม เพราะเหตุที่มนุษย์เราทำความผิดบาป จึงต้องถูกพิพากษาลงโทษ จึงได้กำหนดวิธีที่จะจำเลยหรือผู้ต้องหาอย่างเราๆ  ให้รอดพ้นจากการพิพากษาลงโทษนั้น

ท่านจำเลยหรือผู้ต้องหาทุกท่านครับ เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเราทุกคนนั้นล้วนแต่เป็นคนต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาแผ่นดินทั้งสิ้น  และเราไม่สามารถที่จะช่วยตัวเองให้พ้นจากความบาปได้เลย แต่ท่านผู้พิพากษาท่านรักและให้โอกาสแก่เราที่จะพ้นจากการลงโทษในตะรางได้

ถ้าคุณต้องการ ก็ขอให้คุณอธิฐานหรือรับสารภาพต่อท่านดังนี้  "ข้าพเจ้าจำเลยหรือผู้ต้องหา   วันนี้ข้าพเจ้าช่วยตัวเองให้พ้นจากความผิดอาญาแผ่นดินไม่ได้  ขอท่านผู้พิพากษาโปรดอภัยโทษในความผิดให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด  ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด"

ถ้าท่านได้รับสารภาพด้วยความจริงในแล้ว ก็ขอให้ท่านมั่นใจเถิดว่า ท่านผู้พิพากษาจะได้อภัยโทษรอลงอาญาในความผิดให้แก่ท่านแล้ว เพียงแต่ท่านติดต่อสอบถามปรึกษาขอคำแนะนำตามเวบไซท์นี้

Google
               

     
Online: 2  
Visits: 75,255  
Today: 9  
PageView/Month: 835  
Last Update: 8/1/2554     

   Main webboard   »   ตัวบทกฎหมาย
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Started by
Topic:   หุ้นส่วน,บริษัท(ตอนที่2)  (Read: 2851 times - Reply: 0 comments)   
นายพชร (Admin)

Posts: 18 topics
Joined: 30/11/2553

หุ้นส่วน,บริษัท(ตอนที่2)
« Thread Started on 4/12/2553 12:25:00 IP : 182.53.113.56 »
 

เอกสารสรุปการบรรยายทบทวน ครั้งที่ 2

วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วย

หุ้นส่วนและบริษัท

 

ประเภทของห้างหุ้นส่วน

ห้างหุ้นส่วน มี  2  ประเภท  คือ

                1.  ห้างหุ้นส่วนสามัญ:  เป็นห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของห้างโดยไม่มีจำกัด (ม. 1025) ห้างหุ้นส่วนสามัญนี้จะจดทะเบียนหรือไม่ก็ได้  หากจดทะเบียนแล้วก็จะมีสภาพเป็นนิติบุคคล เรียกว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล

                2.  ห้างหุ้นส่วนจำกัด:  เป็นห้างหุ้นส่วนซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนอยู่ 2 จำพวก คือ

                                1)  หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกนี้จะรับผิดในบรรดาหนี้สินของห้างไม่เกินจำนวนที่ตามรับว่าจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนั้น (มาตรา 1077(1))

                                2)  หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด  ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกนี้จะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดานี้สินของห้างโดยไม่มีจำกัดจำนวน (มาตรา 1077(2))

 

ผลของการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน    

                 ห้างหุ้นส่วนเมื่อได้จดทะเบียนแล้ว มีสภาพเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลาย (มาตรา 1015) ซึ่งมีผล คือ

                1)  มีสิทธิและหน้าที่ของตนแยกต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วน

                2)  มีสิทธิใช้ชื่อของตนเอง

                3)  มีสิทธิที่จะฟ้องคดีหรือถูกฟ้องคดีได้หรือร้องสอดเข้าเป็นคู่ความในคดี

                คำพิพากษาฎีกาที่ 1525/2495  การฟ้องนิติบุคคลเป็นจำเลยนั้น โจทก์เพียงแค่ระบุชื่อนิติบุคคลเป็นจำเลย โดยไม่ระบุชื่อผู้แทนนิติบุคคลมาด้วยก็ได้ เพราะนิติบุคคลย่อมมีผู้ดำเนินการอยู่ในตัวตามกฎหมาย

                 คำพิพากษาฎีกาที่ 2082/2543  คณะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่รวมกันเป็นหน่วยภาษีตามประมวลรัษฎากรมีหน้าที่ยืนรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเสมือนเป็นบุคคลธรรมดาคนเดียว  โดยบุคคลแต่ละคนในคณะบุคคลไม่จำต้องยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินของคณะบุคคลนั้นเพื่อเสียภาษีอีก  เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการจดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งลักษณะ 22 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1015  คณะบุคคล บังอร - พงศ์วิทย์ ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและเมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏว่า นางบังอรและนายพงศ์วิทย์ฟ้องคดีนี้ในฐานะส่วนตัว ผู้เป็นโจทก์ในคดีนี้จึงไม่ใช่บุคคลธรรมดาด้วยเช่นกันจึงไม่อาจเป็นคู่ความในคดีได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

                หมายเหตุ    คดีนี้ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 และข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. 2539 ไม่ได้บัญญัติถึงผู้ที่จะเป็นคู่ความไว้  จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้โดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 1 (11) คู่ความ หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล...และคำว่า บุคคลนั้นตาม ป.พ.พ.ได้แก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล คำวินิจฉัยของศาลฎีกาคดีนี้จึงมีผลว่าคณะบุคคลตามประมวลกฎหมายรัษฎากรไม่อาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีได้ หากถือเหตุผลในทำนองอย่างเดียวกันคณะบุคคลตามประมวลกฎหมายรัษฎากรก็ไม่ควรถูกฟ้องเป็นจำเลยได้เช่นกัน

                4)  มีภูมิสำเนาเป็นของตนเอง

                5)  มีสัญชาติของตนเอง  โดยทั่วไปแล้วหากนิติบุคคลนั้นจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศใดก็จะมีสัญชาติของประเทศนั้น ยกเว้นมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นพิเศษ เช่น พ.ร.บ.     การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 4 (3) ระบุไว้ว่านิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย แต่มีลักษณะดังต่อไปนี้ถือว่าเป็นนิติบุคคลต่างด้าว

                                ก.  มีหุ้นอันเป็นทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้นถือโดย

                                (1) บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย หรือ

                                (2) บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทยลงทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่งของทุนทั้งหมดในนิติบุคคลนั้น

                                ข.  ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียนซึ่งมีหุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้จัดการเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย

                -  เมื่อมีการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทแล้ว หากต่อมาห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นตั้งสาขาเพิ่มเติมก็ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนสาขาให้เป็นนิติบุคคลต่างหากอีก  เพราะศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษา ฎีกาที่ 1741/2504 ว่าสาขาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท สำนักงานใหญ่และสาขามีฐานะตามกฎหมายเป็นนิติบุคคลเดียวกัน  แต่ภูมิลำเนามีได้หลายแห่งสุดแต่กิจกรรมนั้นๆว่าทำ ณ ที่ใด (ฎ. 2766/2528) (ดูมาตรา 69)

 

 

 

 

 

 

 

รายการจดทะเบียน

 

-การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนสามัญ :  รายการที่ต้องจดทะเบียนปรากฏอยู่ในมาตรา 1064

                -การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด : รายการที่ต้องจดทะเบียนปรากฏอยู่ในมาตรา 1078

 

หลัก Constructive Notice:

มาตรา 1021 บัญญัติบังคับไว้ว่านายทะเบียนจะต้องแต่งย่อรายการซึ่งได้ลงทะเบียนแล้วส่งย่อรายการดังกล่าวไปลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาเป็นคราว ๆ ตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด และมาตรา 1022 บัญญัติว่าเมื่อได้พิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ถือว่าบรรดาเอกสารและข้อความซึ่งได้ลงทะเบียนอันได้กล่าวถึงในรายการย่อนั้น เป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงไม่เลือกว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องด้วยห้างหุ้นส่วนหรือด้วยบริษัทนั้นหรือไม่เกี่ยวข้อง

                คำพิพากษาฎีกาที่ 1928-1929/28 วินิจฉัยไว้ว่าข้อสันนิษฐานตามมาตรา 1022 เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาด  คู่ความฝ่ายที่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานไม่ต้องนำสืบการเป็นนิติบุคคลประเภทหุ้นส่วน บริษัท และอำนาจของผู้แทนนิติบุคคลนั้น  นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการซึ่งได้ลงทะเบียนส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา และถือว่าเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงตาม ม. 1021 และ 1022 เมื่อจำเลยให้การแต่เพียงว่าโจทก์จะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ และ กรรมการบริษัทจะเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนตามฟ้องหรือไม่จำเลยไม่ทราบและไม่รับรอง คำให้การของจำเลยฝ่าฝืนข้อสันนิษฐานเด็ดขาดตามกฎหมายจึงไม่เป็นประเด็นที่โจทก์จะต้องนำสืบ  (ฎ. 4867/2530)

                คำพิพากษาฎีกาที่ 347/2506  วินิจฉัยว่าข้อจำกัดอำนาจกรรมการบริษัทในอันที่จะลงนามผูกพันบริษัทที่ว่าจะต้องมีตราของบริษัทประทับด้วยนั้น เมื่อได้จดทะเบียนและได้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้วต้องถือว่าเป็นอันรู้แก่บุคคลโดยทั่วไป ดังนั้นหนังสือสัญญาเช่าซึ่งมีข้อความในตอนต้นว่า บริษัทโดยกรรมการผู้จัดการเป็นผู้เช่าและมีลายมือชื่อกรรมการผู้จัดการในช่องผู้เช่าแต่ไม่มีตราของบริษัทประทับด้วยนั้นย่อมไม่ผูกพันบริษัท

                ข้อสันนิษฐานตามมาตรา 1022 ใช้กับกรณีมีการทำนิติกรรมและสัญญาเท่านั้นไม่รวมถึงกรณีละเมิด (ฎ. 569/2483) เช่น

                คำพิพากษาฎีกาที่ 846/2519  ผ. มิได้เป็นกรรมการบริษัทโจทก์ได้ขอเปิดบัญชีเงินฝากในนามของบริษัทโจทก์ไว้กับธนาคารจำเลย แล้วนำเช็คออกชำระหนี้ให้กับโจทก์เข้าบัญชีเงินฝากนั้น และออกเช็คเบิกเงินโจทก์ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย  ดังนี้เมื่อได้ความว่าการที่ ผ. ขอเปิดบัญชีในนามบริษัทโจทก์  ได้มีเอกสารมาครบถ้วนตามระเบียบที่ธนาคารวางไว้ ทั้งเอกสารระบุว่า ผ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทโจทก์ได้ และพนักงานของธนาคารจำเลยตรวจพิจารณาเอกสารเหล่านั้นด้วยความระมัดระวังตามปกติธรรมดาที่เคยปฏิบัติมาของธนาคารซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องการความรวดเร็วเพื่อให้ความสะดวกแก่ลูกค้าแล้วเชื่อโดยสุจริตว่า ผ. เป็นกรรมการบริษัทโจทก์จริงจึงรับเปิดบัญชีเงินฝากให้ ผ. และไม่ได้สอบถามบริษัทโจทก์หรือกองทะเบียนกระทรวงพาณิชย์อีก แม้ต่อมาปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่ ผ. กับพวกร่วมกันปลอมนั้นก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำโดยประมาท  อันจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ (หมายความว่าจะนำ ม. 1022 มายันจำเลยไม่ได้)

                แต่เดิมนั้น มาตรา 1023 กำหนดว่าผู้เป็นหุ้นส่วนก็ดีห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือบริษัทก็ดีจะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกเพราะเหตุที่มีสัญญาหรือเอกสาร หรือข้อความบังคับให้จดทะเบียนตามลักษณะนี้ยังไม่ได้ จนกว่าจะได้ลงพิมพ์โฆษณาดังกล่าวแล้ว ซึ่งก็เป็นการสอดรับกับมาตรา 1022 ดังนั้น หากมีการจดทะเบียนแล้วแต่ยังไม่ได้ลงพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทก็จะยังไม่อาจยกข้อสันนิษฐานเด็ดขาดตามมาตรา 1022 มายันบุคคลภายนอกได้ แต่บุคคลภายนอกนั้นสามารถยกเอาสัญญา หรือเอกสาร หรือข้อความที่ยังไม่ได้ลงพิมพ์โฆษณามายันผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทได้

                แต่ถึงกระนั้นก็ดี ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทซึ่งได้รับชำระหนี้ก่อนมีการโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา ย่อมไม่จำต้องคืน

ศาสตราจารย์โสภณ รัตนากร ได้ยกตัวอย่างไว้ดังนี้คือ:  ก. ข. และ ค. เข้าหุ้นส่วนสามัญกันและจดทะเบียนระบุว่า ก. เป็นผู้จัดการเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 และได้โฆษณาข้อความที่จดทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2520 แต่ในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2520 ได้มีการจดทะเบียนใหม่เปลี่ยนเป็น ข. เป็นผู้จัดการแทน ก. ยังไม่ทันได้มีการโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2520 ก. ได้ทำสัญญาในนามของห้างกับ ง.  แม้ในวันนั้นจะได้จดทะเบียนเปลี่ยนให้ ข. เป็นผู้จัดการแล้ว ห้างหุ้นส่วนก็จะปฏิเสธสัญญานั้นโดยอ้างว่า ก. ไม่ใช่หุ้นส่วนผู้จัดการ ไม่มีอำนาจทำสัญญาแทนห้างหาได้ไม่ เพราะความข้อนี้ยังไม่ได้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา

สมมติว่าในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2520 ข. ได้ทำสัญญาในนามของห้างกับ จ. แม้การเปลี่ยนตัวหุ้นส่วนผู้จัดการยังไม่ได้มีการโฆษณาก็ตาม จ. ก็ฟ้องห้างให้รับผิดตามสัญญาโดยอ้างว่า ข. เป็นผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนได้

ทั้งสองกรณีข้างต้นนั้นถ้า ง. หรือ จ. ได้ชำระหนี้ให้ห้างหุ้นส่วนตามสัญญานั้นแล้วจะขอคืนโดยอ้างว่าสัญญาไม่ผูกพันเพราะ ก. หรือ ข. มิใช่หุ้นส่วนผู้จัดการในขณะทำสัญญาหาได้ไม่

อย่างไรก็ตามบุคคลภายนอกที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรา 1023 นี้ควรจะต้องเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตตามมาตรา 5 และมาตรา 72 ด้วย ดังในกรณีตัวอย่างข้างต้น ถ้าในขณะทำสัญญา ง. รู้อยู่แล้วว่า ก. มิได้เป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนแล้ว ห้างหุ้นส่วนก็น่าที่จะปฏิเสธสัญญาที่ ก. ทำไว้กับ ง. ได้

คำพิพากษาฎีกา 1951-1952/2497 วินิจฉัยไว้ว่าบริษัทจำกัดต้องผูกพันตามสัญญาที่ตัวแทนได้กระทำไปหลังจากที่ได้จดทะเบียนตั้งบริษัทจำกัดแล้ว แม้ยังมิได้ลงพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาก็ตาม แต่ข้อบังคับของบริษัทที่ว่ากรรมการผู้จัดการต้องลงนามในเอกสาร 2 ฉบับ และประทับตราบริษัทด้วยนั้นถ้ายังมิได้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาจะใช้ยันบุคคลภายนอกไม่ได้ และบริษัทต้องรับผิดแม้กรรมการผู้จัดการนายเดียวลงชื่อในหนังสือแต่งตั้งตัวแทนไปซื้อสินค้าจากโจทก์

                คำพิพากษาฎีกาที่ 4949/2536  การที่ ส. ลงลายมือชื่อร่วมกับ ช. มอบอำนาจให้ จ. ฟ้องคดี เป็นการทำภายหลังจาก ส. ได้ลาออกจากกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจของโจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดแล้วจึงไม่ต้องด้วยข้อบังคับของโจทก์ตามหนังสือรับรองที่กำหนดให้กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ คือ ส. ช.และ จ. สองในสามคนนี้ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของบริษัทจึงจะกระทำการผูกพันโจทก์

                ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทโจทก์กับ ส. ผู้เป็นกรรมการนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1167 บัญญัติให้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยตัวแทน ดังนั้น ส. ย่อมจะบอกเลิกการเป็นผู้แทนของบริษัทโจทก์ในเวลา ใด ๆ ก็ได้ และการบอกเลิกนั้นมีผลทันทีเมื่อได้แสดงเจตนาแก่บริษัทโจทก์ตามมาตรา 826 มาตรา827 และมาตรา 386 หาใช่มีผลเมื่อนำความไปจดทะเบียนต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแล้วไม่ การที่กฎหมายมาตรา 1023 บังคับให้นำไปจดทะเบียนนั้นก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกถึงการเปลี่ยนแปลงยังไม่ได้จนกว่าจะได้ลงพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

                คดีนี้จำเลยถูกฟ้องในฐานะกู้ยืมเงินจากบริษัทโจทก์ มิใช่ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทโจทก์ จำเลยจึงเป็นบุคคลภายนอก เมื่อ ส. ลาออกจากกรรมการแล้วแม้ยังไม่ได้นำความไปจดทะเบียนและลงโฆษณาในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการบริษัทโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมถือเอาประโยชน์ได้ การที่ ส. จะลงลายมือชื่อร่วมกับ ช. มอบอำนาจให้ จ. ฟ้องจำเลยเป็นการกระทำให้ปราศจากอำนาจ จ. จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์

                มาตรา 1023  จึงมีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองบุคคลภายนอกแต่ในปัจจุบันได้แก้ไขมาตรา 0123แล้วโดยมาตรา 4  แห่ง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. (ฉบับที่ 18 ) พ.ศ. 2551 โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ประกาศเมื่อ 3 มี.ค. 2551) ซึ่งก่อให้เกิดความสับสนไม่น้อย

มาตรา 1023 ที่แก้ไขใหม่บัญญัติว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนก็ดี ห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือบริษัทก็ดี จะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกเพราะเหตุที่มีสัญญาหรือเอกสารหรือข้อความอันบังคับให้จดทะเบียนตามลักษณะนี้ยังไม่ได้จนกว่าจะได้นำไปจดทะเบียนแล้ว แต่ฝ่ายบุคคลภายนอกจะถือเอาประโยชน์เช่นว่านั้นได้

แต่ถึงกระนั้นก็ดี ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทซึ่งได้รับชำระหนี้ก่อนจดทะเบียนนั้นย่อมไม่จำต้องคืน

เมื่ออ่านมาตรา 1022 มาตรา 1023 และมาตรา 1023/1 แล้ว ผู้บรรยายเห็นว่า:

1) การแก้ไขมาตรา 1023 นี้ก็เพื่อแก้ปัญหาช่องว่างที่เกิดขึ้นตามกฎหมายเดิม เพราะตามมาตรา 1023 เดิมนั้น แม้จะได้นำสัญญาหรือเอกสารหรือข้อความไปจดทะเบียนแล้วก็ตาม ผู้เป็นหุ้นส่วนก็ดี ห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือบริษัทก็ดี ก็ยังไม่อาจถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกได้จนกว่าจะได้มีการโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา แต่มาตรา 1023 ที่แก้ไขใหม่นี้ระบุว่าผู้เป็นหุ้นส่วนก็ดี ห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือบริษัทก็ดี จะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกได้ก็ต่อเมื่อได้มีการนำเอาสัญญาหรือเอกสารหรือข้อความที่กฎหมายบังคับให้ต้องจดทะเบียนไปจดทะเบียนแล้ว

                2) อย่างไรก็ตามเมื่อป.พ.พ. ยังคงมาตรา 1022 ไว้ตามเดิม นายทะเบียนก็ยังคงมีหน้าที่แต่งย่อรายการซึ่งได้ลงทะเบียนส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ตราบใดที่ยังไม่มีการลงพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา ก็จะถือว่าบรรดาเอกสารและข้อความดังกล่าวแม้จะได้จดทะเบียนแล้วเป็นอันรู้แก่บุคคลทั่วไปไม่ได้  ดังนั้นผู้เป็นหุ้นส่วนก็ดี ห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือบริษัทก็ดีอาจจะต้องพิสูจน์ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้ถึงเอกสารหรือข้อความที่ได้จดทะเบียนนั้นแล้ว ซึ่งในทางปฏิบัติก็คงจะพิสูจน์ได้ค่อนข้างยาก

3) ผู้เป็นหุ้นส่วนก็ดี ห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือบริษัทก็ดี จะยกมาตรา 1023 ขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกผู้สุจริตเพื่อไม่ให้ต้องรับผิดโดยอ้างว่าผู้เป็นหุ้นส่วน ห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือกรรมการไม่มีอำนาจกระทำการไม่ได้ (ม. 1023/1)

                4) ส่วนบุคคลภายนอกนั้นย่อมถือเอาประโยชน์จากสัญญา เอกสาร หรือข้อความที่กฎหมายบังคับให้ต้องจดทะเบียนได้แม้จะจะยังไม่ได้ทำการจดทะเบียน (มาตรา 1023 วรรค 1)

                5) ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทซึ่งได้รับชำระหนี้ก่อนจดทะเบียนย่อมไม่จำต้องคืน (มาตรา 1023 วรรค 2)

               

ตัวอย่าง

                ก. ข. และ ค. เข้าหุ้นส่วนสามัญกันและจดทะเบียนระบุว่า ก. เป็นผู้จัดการเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 และได้โฆษณาข้อความที่จดทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552  ก. ได้ทำสัญญาในนามของห้างกับ ง. เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 โดย ง. ได้ไปขอคัดหนังสือรับรองจากนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทและทราบว่า ก. เป็นผู้จัดการของห้าง ต่อมาในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2552 ได้มีการจดทะเบียนใหม่เปลี่ยนเป็น ข. เป็นผู้จัดการแทน ก. ยังไม่ทันได้มีการโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2552  ก. ได้ทำสัญญาในนามของห้างกับ จ.  แม้ในวันนั้นจะได้จดทะเบียนเปลี่ยนให้ ข. เป็นผู้จัดการแล้วก็ตามแต่ จ. ไม่ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

กรณีดังกล่าวมานี้ เมื่อได้มีการจดทะเบียนว่า ก. เป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนแล้วเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 และ ง. ได้ทราบถึงข้อความที่จดทะเบียนแล้ว ห้างหุ้นส่วนย่อมถือเอาประโยชน์จากสัญญาที่ ก. ทำในนามของห้างกับ ง. ได้ แม้ขณะทำสัญญากันนั้น ข้อความที่จดทะเบียนไว้ว่า ก. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จะยังไม่ได้ลงโฆษณาในราชกิจจานุเบกษาก็ตาม

ในกรณีของสัญญาที่ ก. ทำในนามของห้างกับ จ. ภายหลังจากที่ได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้ ข. เป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนแทน ก. แล้วนั้น จ. สามารถเรียกร้องให้ห้างหุ้นส่วนรับผิดตามสัญญาได้เพราะตามมาตรา 1023/1 นั้นห้างหุ้นส่วนจะยกมาตรา 1023 ขึ้นต่อสู้ จ. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตโดยอ้างว่า ก. ไม่มีอำนาจกระทำการแทนห้างไม่ได้

สมมติว่าในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2552 ก. ข. และ ค. ตกลงกันให้ ข. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแทน ก. แต่ยังไม่ได้นำข้อความดังกล่าวไปจดทะเบียน ในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552 ข. ได้ทำสัญญาในนามของห้างกับ ฉ. ดังนี้ ฉ. ย่อมสามารถเรียกร้องให้ห้างหุ้นส่วนรับผิดตามสัญญาได้ตามความในมาตรา 1023 วรรค 1

แม้กระนั้นก็ดี หาก จ. และ ฉ. ชำระหนี้ให้กับห้างหุ้นส่วนตามสัญญาที่ได้ทำไว้นั้นแล้วจะขอคืนโดยอ้างว่าสัญญาไม่ผูกพันเพราะ ก. หรือ ข. มิใช่หุ้นส่วนผู้จัดการในขณะทำสัญญาหาได้ไม่

 

สมุดบัญชีเอกสารของห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท หรือของผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทใด ๆ

               

มาตรา 1024 บัญญัติว่า ในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน หรือในระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกันหรือในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนกับห้างหุ้นส่วน หรือในระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเอกสารดังกล่าวนี้ย่อมเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามข้อความที่ได้บันทึกไว้นั้นทุกประการ

                คำพิพากษาฎีกาที่ 698/2539 พยานผู้ร้องเบิกความว่าผู้ร้องชำระค่าหุ้นตามมูลค่าแล้วโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดสนับสนุน จึงไม่สามารถหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ ผู้ร้องต้องรับผิดในหนี้ที่ค้างชำระตามที่ผู้คัดค้านมีหนังสือยืนยันไปตามบัญชีผู้ถือหุ้น

                คำพิพากษาฎีกาที่ 1383/2525 ผู้ร้องอ้างว่าไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้น แต่เมื่อผู้ร้องนำสืบหักล้างบัญชีผู้ถือหุ้นฉบับสุดท้ายที่กรรมการบริษัทนำส่งต่อนายทะเบียนตามป.พ.พ. มาตรา 1139 วรรคสองไม่ได้ จึงต้องถือว่าผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นและค้างชำระค่าหุ้นตามที่ปรากฏในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น

                ข้อสังเกต  ข้อความในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นซึ่งจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามมาตรา 1024 นี้ต้องเป็นข้อความที่กฎหมายกำหนด หรือให้อำนาจให้จดทะเบียนเท่านั้น เช่นรายการตาม ม. 1138 รายการอื่น ๆ ที่จดลงไปเองย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน

 

 

 

 

 

 

 

 

ห้างหุ้นส่วนสามัญ

มาตรา 1025 บัญญัติว่า อันว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด

ห้างหุ้นส่วนสามัญมีลักษณะดังต่อไปนี้คือ

                1.  ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นเป็นความรับผิดร่วมกันและแทนกัน (Jointly and Severally Liable) ดังนั้นผู้เป็นหุ้นส่วนจะขอแบ่งแยกความรับผิดในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนเป็นรายบุคคล หรือตามส่วนที่ตนลงทุนไม่ได้ เจ้าหนี้ของห้างจะฟ้องเรียกหนี้สินจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนหรือทุกคนให้ชำระหนี้ร่วมกันก็ได้ โดยไม่ต้อคำนึงว่าผู้เป็นหุ้นส่วนดังกล่าวได้ลงทุนเข้าหุ้นเป็นจำนวนเท่าใด และแม้เจ้าหนี้ของห้างจะได้ฟ้องให้หุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดให้รับผิดไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน เจ้าหนี้คนนั้นก็ยังมีสิทธิฟ้องผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ได้ต่อไปจนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน

                คำพิพากษาฎีกาที่ 288/2488  หุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในห้างหุ้นส่วนสามัญ ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนย่อมต้องรับผิดในหนี้สินนั้นด้วย

                ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งถูกพิพากษาให้ใช้หนี้ เมื่อปรากฏว่าหนี้นั้นเป็นหนี้ของห้างหุ้นส่วนแล้ว เจ้าหนี้ย่อมยึดทรัพย์ของหุ้นส่วนได้ ผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นจะไม่ยอมให้ยึดส่วนของตนไม่ได้

                คำพิพากษาฎีกาที่ 160/2496 ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนกู้เงินโดยใช้ชื่อห้างเป็นผู้กู้ โดยมีหุ้นส่วนคนหนึ่งลงชื่อเป็นผู้กู้ ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ค้ำประกันที่ได้ใช้หนี้ห้างงแทนไป

                2.  หุ้นส่วนทุคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของห้าง ซึ่งหนี้ของห้างนั้นอาจเป็นหนี้ที่เกิดจากนิติกรรมสัญญาที่ได้ทำไว้ในนามของห้าง หนี้ค่าภาษีอากร หรือหนี้ละเมิดก็ได้

                คำพิพากษาฎีกาที่ 507/2532 วินิจฉัยว่าผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญทุกคนต้องร่วมกันรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัด เมื่อ ห. เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งตายทายาทผู้รับมรดกของ ห. ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในหนี้ค่าภาษีดังกล่าวด้วย

                คำพิพากษาฎีกาที่ 1836/2514  จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกรถยนต์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกแรงงาน ร่วมกันรับจ้างบรรทุกของ ผลประโยชน์แบ่งกันคนละครึ่งถือว่าการดำเนินกิจการเกี่ยวกับรถยนต์ดันนี้ระหว่างจำเลยทั้ง 2 เข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนกัน เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอก (หนี้ละเมิด)  จำเลยทั้งสองต้องรับผิดร่วมกันและแทนกันในกิจการของห้างหุ้นส่วน

                3.  คุณสมบัติของผู้เป็นหุ้นส่วนเป็นสาระสำคัญ

                เพราะเหตุที่หุ้นส่วนทุกคนต้องร่วมกันรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน คุณสมบัติของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญจึงเป็นสาระสำคัญ ดังนั้น

                ก.  เมื่อหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งตาย หรือ ล้มละลาย หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ  ห้างหุ้นส่วนสามัญย่อมเลิกกัน (ม. 1055 (5)) แต่ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนที่ยังเหลือรับซื้อหุ้นของหุ้นส่วนคนที่ตาย ล้มละลายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ สัญญาหุ้นส่วนนั้นก็ยังใช้ได้ต่อไประหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนที่ยังอยู่ต่อไป (มาตรา 1060)

                ข.  ห้ามชักนำเอาบุคคลผู้อื่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วน โดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนหมดด้วยกันทุกคน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น (มาตรา 1040)

                ค. เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งขอถอนตัวจากการเป็นหุ้นส่วนตามความในมาตรา 1056 และมาตรา 1055(4) แล้ว ห้างหุ้นส่วนย่อมเลิกกัน แต่ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนที่ยังเหลืออยู่รับซื้อหุ้นของหุ้นส่วนที่ถอนตัวออกไปนั้นไว้ และยังคงดำเนินกิจการต่อไปตามปกติ ดังนี้ไม่ถือว่าห้างได้เลิกกัน (คำพิพากษาฎีกาที่ 1299/2480)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน

1. ผู้เป็นหุ้นส่วนต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาลงหุ้นด้วยในห้างหุ้นส่วน สิ่งที่นำมาลงหุ้นด้วยอาจเป็นเงินหรือทรัพย์สินอื่นหรือแรงงานก็ได้ (มาตรา 1026)

                คำพิพากษาฎีกาที่ 1399/2523 เมื่อปรากฏว่าจำเลยทั้งสองไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาลงหุ้นกับโจทก์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือทรัพย์สินอื่นหรือแรงงาน จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนกับโจทก์ แม้จำเลยทั้งสองจะได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการบางสิ่งบางอย่างของโจทก์ ก็ไม่ทำให้จำเลยทั้งสองกลับกลายเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยทั้งสองมาชำระบัญชีกับโจทก์ หรือให้จำเลยทั้งสองรับผิดในฐานะเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์

                คำพิพากษาฎีกาที่ 2530/2538 เมื่อมีสัญญาว่าจะนำสิ่งใดมาลงหุ้นแล้ว แม้ฝ่ายหนึ่งจะไม่นำทรัพย์สินตามที่ตกลงกันมาลงหุ้น ก็ไม่ทำให้สัญญาเข้าหุ้นส่วนเสียไป

 

2. ในกรณีของการนำเงินมาลงหุ้น หากตกลงกันว่าจะนำเงินมาลงหุ้นในวันใด เมื่อถึงกำหนดแล้วไม่นำเงินมาลงหุ้นในวันดังกล่าว ย่อมถือว่าผิดนัด และจะต้องจ่ายดอกเบี้ยเพื่อการผิดนัดนับแต่วันนั้น

 

3. การลงหุ้นด้วยทรัพย์สินนั้น อาจเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์มีรูปร่างหรือทรัพย์ไม่มีรูปร่าง เช่น ทรัพย์สินทางปัญญาก็ได้ การนำทรัพย์สินมาลงหุ้นนั้นสามรถทำได้ 2 วิธี คือ 1) การนำทรัพย์สินมาให้ห้างหุ้นส่วนใช้ และ 2) การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้กับห้างหุ้นส่วน

                1) การนำทรัพย์สินมาให้ห้างหุ้นส่วนใช้นั้นมาตรา 1029 ระบุว่าความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนที่นำทรัพย์สินมาให้ห้างหุ้นส่วนใช้กับห้างหุ้นส่วนในเรื่องส่งมอบและซ่อมแซมก็ดี ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องก็ดี ความรับผิดเพื่อการรอนสิทธิก็ดี หรือข้อยกเว้นความรับผิดก็ดี ให้บังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยเช่าทรัพย์ ดังนั้นผู้ลงหุ้นโดยให้ห้างหุ้นส่วนใช้ทรัพย์สินจึงมีฐานะดังผู้ให้เช่า มีหน้าที่ส่งมอบทรัพย์สินในสภาพที่ซ่อมแซมดีแล้ว (มาตรา 546) หากผู้ลงหุ้นส่งมอบทรัพย์สินโดยสภาพที่ไม่เหมาะแก่การใช้ประโยชน์ ห้างหุ้นส่วนก็อาจบอกเลิกสัญญาได้ (มาตรา 548) หรือหากห้างหุ้นส่วนต้องเสียค่าใช้จ่ายไปโดยความจำเป็นและสมควรเพื่อรักษาทรัพย์สินเพื่อให้อยู่ในสภาพที่เหมาะแก่การใช้ประโยชน์ หุ้นส่วนผู้ที่นำทรัพย์สินมาให้ห้างหุ้นส่วนใช้ก็ต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้แก่ห้างหุ้นส่วน ยกเว้นเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อบำรุงรักษาตามปกติและเพื่อซ่อมแซมเพียงเล็กน้อย (มาตรา 547) ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องหรือการรอนสิทธิ (มาตรา 549 และ 550) เมื่อมีการเลิกห้างหุ้นส่วนแล้ว ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ก็ต้องคืนทรัพย์สินนั้นให้แก่หุ้นส่วนที่เป็นเจ้าของ แต่มาตรา 1029 ไม่ได้กำหนดให้มีหน้าที่ต้องคืนในสภาพที่ซ่อมแซมดีแล้วอย่างกรณีของผู้เช่า ดังนั้นจึงน่าจะต้องส่งคืนทรัพย์สินในสภาพที่เป็นอยู่ตามความในมาตรา 323 วรรคที่ 1

                ในการนำทรัพย์สินมาให้ห้างหุ้นส่วนใช้นั้น กรรมสิทธ์ในทรัพย์สินยังเป็นของผู้ลงหุ้นอยู่ เพราะฉะนั้นหากเกิดการบุบสลายหรือสูญหายขึ้นในระหว่างการให้ใช้ทรัพย์สินนั้น ถ้าเป็นกรณีที่ไม่อาจโทษห้างหุ้นส่วนได้ การบุบสลายหรือสูญหายนั้นก็ต้องตกเป็นบาปเคราะห์ของผู้ลงหุ้นซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และถ้าทรัพย์สินมีราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ตกเป็นผลดีผลร้ายแก่ผู้ลงหุ้นนั้นเองเช่นกัน

                คำพิพากษาฎีกาที่ 3740-3741/2542 การเอาทรัพย์สินมาลงหุ้นของโจทก์และจำเลยนั้นมิได้เอาทรัพย์สินมาเป็นกรรมสิทธิ์ของห้างหุ้นส่วน เป็นแต่เพียงเอามาใช้ในกิจการของห้างหุ้นส่วน จำเลยและโจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง เจ้าของรวมแต่ละคนสามารถจำหน่ายส่วนของตนหรือจำนองหรือก่อให้เกิดภาระติดพันก็ได้ ฉะนั้นการที่จำเลยจำหน่ายกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยจำหน่ายเฉพาะส่วนของตน จึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทั้งไม่อาจถือได้ว่าเป็นการชักนำบุคคลอื่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน เพราะการเป็นหุ้นส่วนต้องเกิดขึ้นโดยความตกลงระหว่าง ผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน เมื่อโจทก์ยังมิได้ตกลงให้ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของจำเลยเข้ามาเป็นหุ้นส่วน ผู้รับโอนก็หากลายมาเป็นหุ้นส่วนไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการผิดสัญญาหุ้นส่วน

                2) การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ห้างหุ้นส่วน ถ้าห้างหุ้นส่วนนั้นเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ได้จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนนั้นก็ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วน กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ผู้ลงหุ้นโอนให้แก่ห้างนั้นย่อมตกเป็นของหุ้นส่วนทุกคนร่วมกัน แต่ถ้ามีการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนแล้ว ก็มีสภาพเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ผู้ลงหุ้นโดนให้แก่ห้างหุ้นส่วนก็ตกเป็นของห้างหุ้นส่วนนั้น

                คำพิพากษาฎีกาที่ 4193/2533 เอาที่ดินมาลงหุ้นโดยไม่ได้โอนทะเบียนกัน และผู้ลงหุ้นยังมีชื่อในโฉนดเป็นเจ้าของที่ดินอยู่ก็ตาม ก็ต้องถือว่าหุ้นส่วนผู้นั้นถือที่ดินนั้นแทนผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมด หุ้นส่วนผู้เป็นเจ้าของที่ดินมาแต่เดิมจะอ้างว่าที่ดินยังเป็นของตนอยู่เพราะยังไม่ได้จดทะเบียนโอนให้ห้างหุ้นส่วนหาได้ไม่

                คำพิพากษาฎีกาที่ 10866/2546 โจทก์และ ธ. ซึ่งมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินพิพาทได้นำที่ดินพิพาทมาลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. แม้จะไม่มีการจดทะเบียนโอนในโฉนดที่ดิน ที่ดินพิพาทก็ย่อมเป็นทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. เป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้าง จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงมีคำสั่งให้อายัดและยึดที่ดินพิพาทได้

เนื่องจากกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่นำมาลงหุ้นได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน) หรือของห้างหุ้นส่วน (กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน) แม้ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้นเมื่อมีการเลิกห้างหุ้นส่วนและชำระบัญชี ผู้ชำระบัญชีก็มีอำนาจที่จะนำที่ดินนั้นมาขายเอาเงินชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 533/2511) เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนก็นำยึดที่ดินนั้นมาชำระหนี้ได้ ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้มีชื่อในโฉนดหรือทายาทจะมาร้องขอให้ปล่อยการยึดไม่ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 288/2488, 84/2512)

กรณีมีผู้ลงหุ้นด้วยที่ดินโดยไม่มีการโอนโฉนดที่ดินกันเช่นนี้ ถ้าต่อมามีการเลิกห้างและผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายตกลงกันให้คืนที่ดินแก่ผู้ลงหุ้นตามเดิม ดังนี้ถือว่าที่ดินนั้นกลับคืนไปยังผู้ลงหุ้นคนนั้น ไม่เป็นของห้างหุ้นส่วนหรือของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนรวมกันต่อไปอีก โดยไม่ต้องมีการแก้ไขในทะเบียนแต่อย่างใด (คำพิพากษาฎีกาที่ 933/2475)

สำหรับความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนที่นำกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินมาลงหุ้นกับห้างหุ้นส่วนนั้นมาตรา 1030 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยซื้อขายมาใช้บังคับในเรื่องการส่งมอบและซ่อมแซมทรัพย์สิน ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง ความรับผิดเพื่อการรอนสิทธิ หรือข้อยกเว้นความรับผิด โดยถือว่าผู้ลงหุ้นมีฐานะดังผู้ขาย

 

4. การหามูลค่าของสิ่งที่นำมาลงหุ้นเพื่อใช้คำนวณส่วนแบ่งกำไร

                ส่วนลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นมีความสำคัญต่อการแบ่งส่วนกำไรและขาดทุนอันเกิดจากจากกิจการของห้างหุ้นส่วน ซึ่งมาตรา 1044 บัญญัติไว้ว่าส่วนกำไรก็ดี ส่วนขาดทุนก็ดีของผู้เป็นหุ้นส่วนทุก ๆ คนนั้น ย่อมเป็นไปตามส่วนที่ลงหุ้น ส่วนลงหุ้นจึงเป็นฐานที่จะนำมาใช้ในการ คำนวณส่วนแบ่งกำไรและขาดทุนของหุ้นส่วนแต่ละคน

                สำหรับหุ้นส่วนที่ลงหุ้นด้วยเงินนั้นย่อมทราบมูลค่าของส่วนลงหุ้นได้ชัดเจนว่าเงินที่นำมาลงหุ้นนั้นมีจำนวนเท่าใด แต่นอกจากการลงหุ้นด้วยเงินแล้วหุ้นส่วนบางคนอาจลงหุ้นด้วยทรัพย์สินอื่นหรือลงหุ้นด้วยแรงงาน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องทราบว่าทรัพย์สินหรือแรงงานที่นำมาลงหุ้นนั้นมีราคาเท่าใด ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนควรตกลงกันให้ชัดเจนในสัญญาเข้าหุ้นส่วนว่าทรัพย์สินหรือแรงงานที่นำมาลงหุ้นนั้นมีราคาเท่าใด โดยปกติทั่วไปแล้วราคาทรัพย์สินที่นำมาลงหุ้นมักจะถือราคาตามท้องตลาดเป็นเกณฑ์ แต่หากผู้เป็นหุ้นส่วนไม่ได้ตกลงกันเกี่ยวกับการตีราคาทรัพย์สินที่นำมาลงหุ้นและเมื่อเกิดกรณีเป็นข้อสงสัย มาตรา 1027 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสิ่งซึ่งนำมาลงหุ้นด้วยกันนั้นมีค่าเท่ากัน เช่น ก. และ ข. ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันเพื่อดำเนินกิจการรับจ้างขนของ โดย ก. ลงหุ้นด้วยเงินสด 300,000 บาท ข. นำรถกระบะเก่ามาลงหุ้นโดยไม่ได้ตกลงกันตีราคาไว้ เมื่อเกิดมีข้อสงสัยว่าระกระบะเก่ามีราคาเท่าใด กรณีนี้อาจนำมาตรา 1027 มาใช้โดยสันนิษฐานไว้ก่อนว่ารถกระบะเก่าที่ ข. นำมาลงหุ้นนั้นมีค่าเท่ากับส่วนลงหุ้นของ ก. คือ 300,000 บาท

แต่อย่าไรก็ตามหากเห็นได้ชัดเจนว่าสิ่งซึ่งนำมาลงหุ้นนั้นมีค่าต่างกันมาก ก็ไม่อาจนำมาตรา 1027 ทาใช้ได้ เช่นในกรณีตัวอย่างข้างต้น ถ้า ข. นำรถกระบะใหม่ป้ายแดงมาลงหุ้น ดังนี้ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่ารถกระบะใหม่ป้ายแดงมีมูลค่ามากกว่า 300,000 บาท ดังนี้ก็ไม่อาจนำมาตรา 1027 มาใช้ การตีราคาก็ต้องถือราคาตามท้องตลาดของรถกระบะป้ายแดง

สำหรับการลงหุ้นด้วยแรงงานนั้นผู้เป็นหุ้นส่วนก็ควรจะตกลงกันให้ชัดเจนว่าแรงงานนั้นมีค่าเท่าใด หากผู้เป็นหุ้นส่วนไม่ได้ตกลงกันตีราคาแรงงานไว้ ก็ต้องนำมาตรา 1028 มาใช้บังคับคือจะต้องถือว่าแรงงานที่นำมาลงหุ้นนั้นมีมูลค่าเท่ากับส่วนถัวเฉลี่ยของผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งได้ลงหุ้นด้วยเงินหรือทรัพย์สิน

ตัวอย่าง ก. ข. ค. ตกลงกันเข้าหุ้นส่วนเพื่อปลูกข้าวโพดขายเพื่อเอากำหรมาแบ่งปันกัน ก. ลงหุ้นด้วยเงินจำนวน 100,000 บาท ข. นำที่ดิน  1 ไร่มาลงหุ้นโดยไม่ได้ตีราคาไว้ ค. ลงหุ้นด้วยแรงงานโดยไม่ได้ตีราคาไว้เช่นเดียวกัน เมื่อกรณีเป็นข้อสงสัยว่าที่ดินที่ ข. นำมาลงหุ้นและแรงงานของ ค. มีราคาเท่าใด ดังนี้สามรถนำมาตรา 1027 มาใช้บังคับ ซึ่งให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าที่ดินของ ข. และแรงงานของ ค. มีมูลค่าเท่ากับเงินลงหุ้นของ ก. คือ 100,000 บาท

แต่ถ้ามีการตกลงกันตีราคาที่ดินของ ข. ไว้  200,000 บาท แต่ไม่ได้ตกลงกันตีราคาแรงงานของ ค. ในการหามูลค่าแรงงานของ ค. เพื่อนำมาใช้เป็นฐานในการคำนวณส่วนแบ่งกำไรนั้นมาตรา 1028 ระบุว่าให้นำเงินและทรัพย์สินที่ ก. และ ข. ลงหุ้นมาหาส่วนถังเฉลี่ย ซึ่งในกรณีจะได้เท่ากับ 150,000 บาท ดังนั้นอัตราส่วนในการแบ่งกำไรระหว่าง ก. ข. และ ค. คือ ก.จะได้ปันกำไร 1 ส่วน ข. ได้ 2 ส่วน และ ค. ได้ 1.5 ส่วน

คำพิพากษาฎีกาที่ 817/2476 วินิจฉัยไว้ว่าหุ้นส่วนที่ได้มีข้องตกลงแบ่งส่วนกำไรนั้น ถ้าขาดทุนก็ต้องขาดทุนด้วยตามส่วนที่จะได้กำไรแม้หุ้นส่วนผู้นั้นจะลงหุ้นเพียงแรงงานก็ตาม แต่เมื่อมีการชำระบัญชีเลิกห้าง หรือหุ้นส่วนที่ลงด้วยแรงงานต้องการจะถอนตัวจากการเป็นหุ้นส่วน หุ้นส่วนผู้ลงแรงงานจะขอแบ่งเงินลงทุนจากผู้เป็นหุ้นส่วนที่ลงหุ้นด้วยเงินหรือด้วยทรัพย์สินอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากจะมีสัญญากันไว้ว่าให้แบ่งทุนได้

 

5. การละเลยไม่ส่งมอบส่วนลงหุ้น

                ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดละเลยไม่ส่งมอบส่วนลงหุ้นของตนเสียเลยตามที่ได้ตกลงกันไว้ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ มีทางเลือก 2 ทาง คือ

1)    นำคดีไปฟ้องร้องต่อศาลบังคับให้หุ้นส่วนผู้นั้นปฏิบัติตามสัญญาเข้าหุ้นส่วนด้วยการส่งมอบส่วนลงหุ้นที่ค้างชำระและสามรถเรียกค่าเสียหายได้ด้วย (มาตรา 213, 215 และ 222) หรือ

2)      ขับผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นออกจากความเป็นหุ้นส่วนโดยดำเนินการตามขั้นตอนที่ระบุไว้ในมาตรา 1031 กล่าวคือ

 

ก.    ส่งคำบอกกล่าวเป็นจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นให้ส่งมอบส่วนลงหุ้นของตนมาภายในเวลาที่กำหนดไว้ในคำบอกกล่าว แต่เวลาที่ระบุไว้ในคำบอกกล่าวนั้นต้องเป็นเวลาอันสมควร

ข.    หากพ้นเวลาที่กำหนดแล้ว ผู้นั้นยังคงละเลยไม่ส่งมอบส่วนลงหุ้นของตน ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ อาจมีมติเป็นเอกฉันท์หรือโดยเสียงข้างมากก็ได้สุดแท้แต่จะตกลงกันไว้ ให้เอาผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นออกไปจากความเป็นหุ้นส่วน

ข้อสังเกต

1. การขับผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดออกจากความเป็นหุ้นส่วนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1031 จะต้องเป็นกรณีที่หุ้นส่วนผู้นั้นไม่ส่งมอบส่วนลงหุ้นเสียเลยเท่านั้น ถ้ามีการส่งมอบส่วนลงหุ้นบางส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ จะขับหุ้นส่วนผู้นั้นออกจากความเป็นหุ้นส่วนไม่ได้ เว้นแต่จะมีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น

2. การขับผู้เป็นหุ้นส่วนที่ละเลยไม่ส่งมอบส่วนลงหุ้นเสียเลยออกจากความเป็นหุ้นส่วนตามมาตรา 1031 นั้นไม่มีผลทำให้ห้างหุ้นส่วนต้องเลิกกัน

 

6. การเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน

                เมื่อมีการทำสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนกันตามมาตรา 1012 แล้ว หากผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดประสงค์จะเปลี่ยนแปลงข้อสัญญา หรือประเภทแห่งกิจการของห้างหุ้นส่วน การเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นจะต้องได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน เว้นแต่จะมีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น (มาตรา 1032) เช่น ตกลงกันไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาให้กระทำโดยเสียงข้างมาก เป็นต้น

 

7. การจัดการห้างหุ้นส่วน

                7.1 กรณีไม่มีข้อตกลงแต่งตั้งผู้จัดการ

                มาตรา 1033 ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนมีอำนาจจัดการห้างหุ้นส่วนได้และถือว่าหุ้นส่วนทุกคนเป็นตัวแทนซึ่งกันและกัน ดังนั้นผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนมีอำนาจที่จะทำสัญญากับบุคคลภายนอกและมีผลผูกพันห้างหุ้นส่วนได้ แต่มีข้อจำกัดว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งจะเข้าทำสัญญาโดยผู้เป็นหุ้นส่วนอีกคนหนึ่งทักท้วงไม่ได้ ซึ่งการทักท้วงนั้นก็ต้องทักท้วงก่อนที่จะมีการทำสัญญากับบุคคลภายนอก ปัญหาก็คือหากมีการทักท้วงแล้วก็ยังมีการฝ่าฝืนคำทักท้วง โดยไปทำสัญญากับบุคคลภายนอก ผลจะเป็นประการใด ในกรณีนี้ก็ต้องพิจารณาว่าสัญญาที่ทำไปนั้นเป็นเรื่องธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนหรือไม่ และบุคคลภายนอกทราบหรือไม่ว่ามีหุ้นส่วนอื่นคนหรือหลายคนได้ทักท้วงแล้ว ถ้าสัญญาดังกล่าวเป็นเรื่องธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนและบุคคลภายนอกก็ไม่ทราบว่าหุ้นส่วนคนอื่นได้ทักท้วงแล้ว สัญญานั้นย่อมผูกพันห้างหุ้นส่วนและผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน รวมทั้งหุ้นส่วนคนที่ทักท้วงด้วย จะต้องร่วมกันรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยไม่มีจำกัดตามมาตรา 1050 แต่ในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน หุ้นส่วนที่ฝ่าฝืนอาจต้องรับผิดแต่เพียงผู้เดียวในการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่หุ้นส่วนคนอื่น ๆ

                คำพิพากษาฎีกาที่ 4293/2540 จำเลยทั้งสามเป็นหุ้นส่วนกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันประกอบกิจการรับจ้างถมดิน ทราย และลูกรัง โดยมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบส่งมอบงานและรับค่าจ้างถมดินด้วยและหุ้นส่วนทุกคนจะรับผิดชอบในกิจการดังกล่าวจนแล้วเสร็จการที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างช่วงให้โจทก์ถมดินในที่ดินบางส่วนซึ่งจำเลยที่ 1 ทำสัญญารับจ้างกับผู้ว่าจ้าง แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้รับมอบหมายจากผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นโดยตรง แต่กิจการที่จำเลยที่ 1 ทำไปนั้นก็เพื่อให้สามารถส่งมอบงานให้ผู้ว่าจ้างทันตามสัญญา จึงอยู่ภายในกรอบแห่งวัตถุประสงค์และความมุ่งหมายโดยตรงของการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนอันถือได้ว่าเป็นการจัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1050 ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในกิจการที่ว่าจ้างนั้น และต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น

 

                อย่างไรก็ตามมีกิจการบางอย่างที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งจะใช้อำนาจจัดการ

โดยลำพังคนเดียวไม่ได้ เช่น

1)      การขับหุ้นส่วนออกจากห้างตามมาตรา 1031

2)      การเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเดิมแห่งห้างหุ้นส่วนหรือประเภทแห่งกิจการของห้างหุ้นส่วนตามมาตรา 1032

3)      การชักนำผู้อื่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนตามมาตรา 1040

4)      การโอนส่วนกำไรให้บุคคลภายนอกซึ่งจะมีผลให้บุคคลภายนอกเข้ามาเป็นหุ้นส่วนตามมาตรา 1041

5)      การอนุญาตให้ผู้เป็นหุ้นส่วนบางคนประกอบกิจการแข่งขันกับห่างหุ้นส่วนตามมาตรา 1038

6)      การควบห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนเข้าด้วยกันตามมาตรา 1073

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 1771/2499 (ประชุมใหญ่) เมื่อไม่มีกฎหมายห้ามไว้แล้ว การจัดการนั้นย่อมรวมถึงการฟ้องร้องและต่อสู้คดีในโรงศาลในกรณีที่เกี่ยวกับประโยชน์ได้เสียของห้างหุ้นส่วนด้วย ดังนั้นผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเพียงคนเดียว อาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของห้างหุ้นส่วนได้โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนเข้าชื่อกันเป็นโจทก์

คำพิพากษาฎีกาที่ 68/2488 สัญญาทำในนามของห้างหุ้นส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียน ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งไม่มีอำนาจฟ้องบังคับตามสัญญาในนามของตนเอง เมื่อความปรากฏว่าหุ้นส่วนผู้จัดการมาฟ้องบังคับตามสัญญา แต่คำบรรยายฟ้องเข้าใจว่าฟ้องเป็นส่วนตัว ดังนั้นต้องยกฟ้อง [ต้องฟ้องในนามของห้างหุ้นส่วนไม่ใช่ฟ้องในนามส่วนตัว]

คำพิพากษาฎีกาที่ 4264/2547 โจทก์และ ส. ตกลงเข้ากันเป็นหุ้นส่วนทำกิจการบ้านจัดสรรและอาคารพาณิชย์ แม้ในการทำสัญญาขายที่ดินพร้อมอาคารแก่จำเลย จะได้มอบอำนาจให้ ว. เป็นผู้มีอำนาจจัดการแทน อันมีผลทำให้โจทก์และ ส. ผูกพันตามสัญญาที่ ว. ทำไว้กับจำเลย ซึ่งโจทก์หรือ ส. ผู้เป็นหุ้นส่วนมีสิทธิฟ้องจำเลยได้โดยลำพังก็ตาม แต่การฟ้องคดีก็จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน เมื่อโจทก์และ ส. ยังเป็นหุ้นส่วนกันอยู่ การที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้เฉพาะส่วนของตนกึ่งหนึ่ง จึงเป็นการฟ้องเรียกหนี้สินของห้างหุ้นส่วนสามัญในฐานะส่วนตัว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องได้

ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จะทะเบียนไม่อาจถูกฟ้องคดีได้ ดังนั้นผู้ฟ้องคดีต้องฟ้องหุ้นส่วนผู้จัดการหรือหุ้นส่วนที่เป็นคู่สัญญา

คำพิพากษาฎีกาที่ 259/2526 โรงแรมจำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล จึงไม่อาจฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีได้ จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนและหุ้นส่วนทุกคนมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการโรงแรมจำเลยที่ 1 ได้ชื่อว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าสำนัก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้

7.2 กรณีมีข้อตกลงกันว่าให้จัดการห้างหุ้นส่วนโดยเสียงข้างมากของผู้เป็นหุ้นส่วน

ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนได้ตกลงกันไว้ว่าการงานของห้างหุ้นส่วนนั้นให้จัดการไปตามเสียงข้างมากของผู้เป็นหุ้นส่วน ในกรณีนี้มาตรา 1034 กำหนดให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งคะแนน โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนที่ลงหุ้นว่าได้ลงหุ้นมากหรือน้อยเพียงใด

กรณีมาตรา 1034 นี้แตกต่างกับกรณีตามมาตรา 1033 กล่าวคือผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนจะจัดการห้างหุ้นส่วนโดยลำพังตนเองโดยไม่หารือกับผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ไม่ได้ เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนได้ตกลงกันให้จัดการห้างหุ้นส่วนไปตามเสียงข้างมาก ดังนั้นผู้เป็นหุ้นส่วนจะต้องหารือกันเกี่ยวกับการจัดการห้างหุ้นส่วน และเมื่อเสียงส่วนใหญ่ของผู้เป็นหุ้นส่วนมีความเห็นอย่างไรแล้ว ก็ย่อมต้องจัดการห้างหุ้นส่วนไปตามนั้น ถึงแม้จะมีผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งหรือเสียงข้างน้อยของผู้เป็นหุ้นส่วนจะได้คัดค้านไว้ก็ตาม ก็สามารถดำเนินการจัดการห้างหุ้นส่วนไปตามเสียงข้างมากได้  ในการลงมติเกี่ยวกับการจัดการห้างหุ้นส่วนนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนมีเสียงเท่ากัน คือหุ้นส่วนคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งเสียงโดยไม่คำนึงว่าแต่ละคนจะลงหุ้นเป็นจำนวนเท่าใด แต่ผู้เป็นหุ้นส่วนก็สามารถตกลงเป็นอย่างอื่นได้ เช่น ตกลงกันว่าให้หุ้นส่วนแต่ละคนมีเสียงตามสัดส่วนของจำนวนที่ลงหุ้น

คำพิพากษาฎีกาที่ 482/ 2518 ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายได้มอบหมายให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งฟ้องคดีของห้างแล้ว การถอดถอนการมอบอำนาจต้องทำโดยผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนหรือโดยเสียงข้างมาก ถ้าทำโดยผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งโดยผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นมิได้ยินยอมด้วยในการถอน  ใบมอบอำนาจยังใช้ได้อยู่ ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งได้รับมอบอำนาจนั้นคงถอนฟ้องได้

7.3 กรณีมีการตกลงกันตั้งหุ้นส่วนผู้จัดการ

หากผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายได้ตกลงกันมอบหมายอำนาจจัดการห้างหุ้นส่วนให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนบางคนไป ผู้เป็นหุ้นส่วนที่ได้รับมอบอำนาจเช่นนั้นเรียกว่าหุ้นส่วนผู้จัดการ โดยหุ้นส่วนผู้จัดการเท่านั้นมีอำนาจจัดการห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นหามีอำนาจจัดการไม่ คงแต่มีอำนาจในการควบคุมการดำเนินงานของหุ้นส่วนผู้จัดการเท่านั้น

ก.       กรณีมีหุ้นส่วนผู้จัดการคนเดียว

ในการตั้งหุ้นส่วนผู้จัดการนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนจะตั้งหุ้นส่วนเพียงคนเดียวเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการก็ได้ หรือจะตั้งหุ้นส่วนหลายคนเป็นผู้จัดการก็ได้ กรณีตั้งหุ้นส่วนเพียงคนเดียวเป็นผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการคนนั้นย่อมมีอำนาจจัดการงานของห้างได้เต็มที่โดยลำพัง

ข.      กรณีตั้งหุ้นส่วนหลายคนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ

ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายได้ตกลงกันตั้งหุ้นส่วนผู้จัดการหลายคน หุ้นส่วนผู้จัดการแต่ละคนมีอำนาจจัดการห้างหุ้นส่วนได้ ไม่จำเป็นต้องจัดการร่วมกัน แต่อย่างไรก็ตามหุ้นส่วนผู้จัดการแต่ละคนจะกระทำการใดซึ่งหุ้นส่วนผู้จัดการอีกคนหนึ่งทักท้วงไม่ได้ (มาตรา 1035) ซึ่งแตกต่างกับตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปตามมาตรา 804 (คำพิพากษาฎีกาที่ 676/2486)

อย่างไรก็ตาม ในการตั้งหุ้นส่วนผู้จัดการนั้น อาจมีการแบ่งอำนาจหน้าที่ของหุ้นส่วนผู้จัดการไว้ก็ได้ เช่น ให้หุ้นส่วนผู้จัดการคนหนึ่งรับผิดชอบด้านการตลาดและให้หุ้นส่วนผู้จัดการอีกคนหนึ่งรับผิดชอบด้านการเงินของห้างหุ้นส่วนก็ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 1382/2519 ห้างหุ้นส่วนจำกัดจดทะเบียนหุ้นส่วนผู้จัดการไว้สามคน โดยไม่มีข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการแต่ละคนจัดการห้างหุ้นส่วนได้ตามป.พ.พ.มาตรา 1035 เมื่อหุ้นส่วนผู้จัดการสองคนลงชื่อในใบแต่งทนาย ก็ใช้ได้ หาจำเป็นต้องให้หุ้นส่วนผู้จัดการทั้งสามร่วมทำการแทนห้างไม่

 

 

 

 

                                                 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share

กรุณาเข้าสู่ระบบหรือสมัครสมาชิกก่อนโพสข้อความค่ะ
»
คลิ๊กที่นี่
   Main webboard   »   ตัวบทกฎหมาย
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  

แสดงกระทู้ล่าสุด  
วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี
วัดป่าบ้านตาด เริ่มก่อตั้งเมื่อปี เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๘ ต่อมากระทรวงศึกษาธิการ ประกาศตั้งขึ้นเป็นวัดในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๓ ให้ชื่อว่า วัดเกษรศีลคุณ ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปในนาม วัดป่าบ้านตาด ตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านบ้านตาด ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ห่างจากตัวเม ...
2098
หลวงตามหาบัว
อ่านประวัติหลวงตาฉบับเต็ม "หยดน้ำบนใบบัว" คลิกอ่านได้ที่นี่   กำเนิด ในครอบครัวชาวนาผู้มีอันจะกิน ณ บ้านตาด อุดรธานี วันเกิด ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๖ นาม บัว โลหิตดี พี่น้องทั้งหมด ๑๖ คน สมัยเด็ก เคารพเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา โดยได้ร่วมทำบุญตักบาตรกับผู้ใหญ่อยู่เสมอ วัยหนุ่ม เป็นหัวเรี่ยวหัว ...
1684
หลวงปู่เล่า
ตามรอยเส้นทางธรรม January 13th, 2010 | เรา (หลวงปู่เณรคำ) จะขอกล่าวความเป็นมาตั้งแต่เราได้รู้ความ การเกิดมาเป็นมนุษย์ ตั้งแต่เป็นเด็กมาเลยโดยสังเขป ให้แก่ท่านทั้งหลายได้รับฟัง พอกระชุ่มกระชวยจิต วาระจิตจะได้มีศรัทธาในการปฏิบัติบำเพ็ญภาวนา เป็นประสบการณ์นำทางชีวิตให้เกิดความสงบสุขต่อไปในอนาคต ซึ ...
2061
เส้นทางธรรม
ตามรอยเส้นทางธรรม January 13th, 2010 | ซึ่งก็มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขณะนั่งภาวนาปักกลดอยู่ริมแม่น้ำศรีสงคราม ครั้งนั้นเราบำเพ็ญอยู่ที่นั่น มีเทวดามาเป็นจำนวนมาก ทั้งพญานาค มาลักษณะเหมือนคนทั่วไปนี่แหละ แต่ว่าตาไม่มีตาดำนะ แววตาไม่มีตาดำสว่างเหมือนกับแสงเทียนเหลืองสุก ไม่กระพริบตา แต่เรารู้ว่าเป็นพญาน ...
1925
ผลการนั่งสมาธิ นั่งแล้วเห็นแบบนี้
ผลการปฏิบัติธรรม โครงการบวชอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน หนึ่งล้านคน ตอน เคล็ดลับความเป็นสาวสองพันปี เรียบเรียงจากรายการโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา   กราบนมัสการพระเดชพระคุณหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูงค่ะ           ฉันเป็นคนใต้ เป็นคนอารมณ์ดี อยู่จังหวัด ...
5647
อุบาสิกาแก้วหน่ออ่อนปี2553
โครงการบวชอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน 1 ล้านคน  บวชยอดหญิงผู้นำฟื้นฟูศีลธรรมโลก 1 ล้านคน1 ล้านทหารหญิงจักรพรรดิแห่งความดี ใบสมัครบวชอุบาสิกาแก้ว อุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน   โอวาทพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)    & ...
1961
พระพุทธเจ้าองค์สุดท้ายภัทรกับป์นี้(อชิตะภิกษุ)
พระศรีอริยเมตไตรย์สัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนที่ 20 "พระพุทธเจ้าองค์สุดท้ายแห่งภัทรกัปนี้" เรียบเรียงจากรายการโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา             ความเดิมจากตอนที่แล้ว... ท่านอชิตภิกษุ...เมื่อได้รับพุทธพยากรณ์ในความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจา ...
5108
พระอชิตะ ได้รับพุทธยากรณ์ เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป
พระศรีอริยเมตไตรย์สัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนที่ 18 "พระอชิตะได้รับพุทธพยากรณ์" เรียบเรียงจากรายการโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา              ความเดิมจากตอนที่แล้ว... พระนางปชาบดีโคตมีทรงรู้สึกเสียพระทัย ไม่ทรงปลื้มปีติในมหาทาน เพราะผู้ที่ได้รับ ...
3794
พระอชิตะ(สมัยพระพุทธเจ้าปัจจุบัน)ตอนที่ 16
พระศรีอริยเมตไตรย์สัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนที่ 16 "พระอชิตะ...บรมโพธิสัตว์" เรียบเรียงจากรายการโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา             ความเดิมจากตอนที่แล้ว... ด้วยความที่พระนางปชาบดีโคตมี ทรงทุ่มเทในการทำผ้าสาฎกทั้งสองผืนอย่างสุดหัวใจ แต่เมื่อ ...
5687
ตอนที่ 1กำเนิดพระศรีอริยะเมตรัย เส้นทางพระพุทธเจ้า
พระศรีอริยเมตไตรย์สัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนที่ 1 "เกริ่นนำ" เรียบเรียงจากรายการโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา           สำหรับเรื่องราวของพระศรีอริยเมตไตรย์นั้น ถ้าใครที่เคยได้ยินหรือได้ฟังเรื่องราวของพระองค์มาก่อนหน้านี้ ก็คงพอจะทราบกันมาบ้างแล้วว่า พระองค์ คื ...
3464
อ่านทั้งหมด ...

Advertising Zone    Close

Online: 2 Visits: 75,255 Today: 9 PageView/Month: 835

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...